วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ขงเบ้ง (ผู้หยั่งรู้ ดินฟ้ามหาสมุทร)


ประวัติ จูกัดเหลียง (ขงเบ้ง)

ถ้าพูดถึง สามก๊ก แล้ว ตัวละคร แรก ๆ ที่หลาย ๆ คนจะนึกถึง คงหนีไม่พ้น ขงเบ้ง ขงเบ้ง ถือเป็นตัวละครที่มีบทบาทมากที่สุดในเรื่องเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่า จะวิชาด้าน โหราศาสตร์ กลศึก การรบ การบริหาร การปกครอง การดูคน และอีกหลาย ๆ ด้าน ยากที่จะหาใครในยุคนั้นเทียบได้ และเป็นผู้ที่ทำให้ พระเจ้าอา เล่าปี่ ได้ปกครอง ก๊กจ๊ก ถ้าผู้ที่เคยอ่านสามก๊กมาบ้าง จะพอรู้ว่า หลาย ๆ ตัวละครในเรื่อง เช่น สุมาอี้ ศัตรูตัวสำคัญของ ขงเบ้ง ถึงกับพูดว่า ความคิดของ ขงเบ้ง เปรียบได้ดังเทพยาดา จากที่เกริ่นนำไปพอสมควรแล้ว เราไปดูประวัติ คราว ๆ ของ ขงเบ้ง หรือ อีกชื่อหนึ่ง จูกัดเหลียง กันครับ

ขงเบ้ง (ข่งหมิง) เป็นชื่อรองของจูกัดเหลียง (จูเก๋อเลี้ยง) ขงเบ้งเกิดที่อำเภอหยางตู (หยังตู) เมือง หลังหยา (หลังเอ๋ย์) ปัจจุบันคืออำเภอ จูเฉิง มณฑลชานตง (ซานตุง) ขงเบ้งสืบสกุลมาจากจูเก๋อฟง สามก๊กบางเล่มว่า จูเก๋อกุย ก็มี จูกัดกุย ก็มี ไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าใครถูกใครผิด เป็นบุตรคนที่ 4 (บางตำราว่า คนที่ 2 ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่า 2 หรือ 4 กันแน่) ของบิดา ซึ่งรับราชการเป็นปลัดเมือง ไท่ซาน (ขุนเขาใหญ่) ส่วนมารดาชื่อ เจียงซื่อ (เจียงสี) แซ่จูเก๋อ (จูกัด) ชื่อแท้จริงของขงเบ้ง คือ เหลียง หรือ เลี่ยง จึงมีคนเรียกว่า จูกัดเหลียง


ขงเบ้งเป็นบุรุษรูปร่างหน้าตาดี สูง 8 ฟุต ตำนานสามก๊กยกย่องไว้ว่าใบหน้า ของขงเบ้งนั้น ขาวนวลเหมือนหยกน้ำหนึ่ง โพกผ้ามีไหม้ห้อยระย้า ถือพัดขนนกอยู่เสมอ ขงเบ้ง มีพี่ชายชื่อ จูกัดกิ๋น (จูเก๋อจิ่น) มีพี่สาวสองคน แต่ไม่สามารถค้นคว้าหา ชื่อมาได้ มีน้องชายชื่อจูกัดกุ๋น (จูเก๋อจวิน) ขงเบ้งอายุได้ 10 ปี ก็กำพร้า มารดา อายุได้ 12 ปี บิดาก็ลาโลกตามไปอีก จึงตกเป็นภาระของ อาเจ๊ก มีนามว่า จูกัดเหี้ยน (จูเก๋อเสวียน) ดูแลอุปการะแทน จูกัดเหี้ยนรับราชการตำแหน่งใหญ่ เป็นถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ยี่เจียง ซึ่งปัจจุบันคือเมือง หนานเซียง มณฑลเจียงซี


ต่อมาภายหลังจูกัดเหี้ยนถูกปลดออกจากตำแหน่งเจ้าเมือง จำต้องอพยพไปหลบราชภัย ไปอาศัยเล่าเปียว และได้ตรอมใจตายในเวลาต่อมา เล่าเปี่ยวจึงรับภาระเลี้ยงดู


เล่าเปี่ยว ได้ส่งพี่น้องในตระกูลจูกัด ไปอยู่ที่บ้านพักของเขา บริเวณภูเขาโงลังกั๋ง (โว่หลงกัง) ตำบลหลงตง (หลงจง) เมืองเซียงหยัง เมื่อขงเบ้งอายุได้ 17 ปี ก็เริ่มฝักใฝ่การศึกษาหาความรู้ใส่ตัว เพราะได้ไปอยู่กับ บังเต็กกง ซึ่งเป็นเศรษฐีในเมืองเชียงหยัง บังเต็กกงมีห้องสมุดส่วนตัวอยู่ในบ้าน ขงเบ้งจึงสามารถกอบโกยวิชาความรู้จากสรรพตำราวิชาการ รวมถึงตำราพิชัยสงครามอย่างเจนจบ สามารถจดจำไว้ได้ครบถ้วน ที่ขงเบ้งสามารถอ่านหนังสือภายในห้องสมุดของบังเต็กกงได้อย่างเสรีก็เพราะได้อาศัยบารมีพี่สาวของเขา ซึ่งได้เข้ามาเป็นลูกสะไต้ของบังเต็งกง


ขงเบ้งมีนิสัยรักความยุติธรรม เปิดเผย ซื่อตรง จงรักภักดี รักความสันโดษ ความสงบ ฝีปากคม ถึงขนาดใช้คำพูด ด่าอองลอง ขุนนางวุยก๊ก จนตกม้าตาย มีความรู้ทางโหราศาสตร์สูง ชำนาญในวิชาการรบจากตำราพิชัยสงครามของหลายอาจารย์ ถึงขนาดได้รับฉายาว่า ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร เขาสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าในอนาคตอันไกลได้ ถึงขนาดวันไหน เวลาใด จะเกิดลมพายุใหญ่


เล่าปี่ได้รับคำแนะนำจาก ชีซี (ตันฮก) ในตอนที่ ชีซี หลงกลโจโฉ ชีซี จึงแนะนำว่า ถึงแม้ตัวข้าพเจ้าจะต้องด่วนจากไปแต่มีบุคคลหนึ่ง ที่ท่านควรจะไปคำนับแล้วเชิญเข้าทำราชการจึงจะควร แล้ว ชีซี ได้ยกย่อง ขงเบ้งว่า “เหมือนพระเจ้าฮั่นโจโก ได้เตียวเหลียงมาไว้เป็นที่ปรึกษา”
(พระเจ้าฮั่นโจโก หรือ เล่าปัง ทำศึกกับ ฌ้อปาอ๋อง ครั้งได้ ก็พ่ายแพ้ พ่ายแพ้การติดต่อกันถึง 7 ครั้ง แต่พอได้ เตียวเหลียง ไว้เป็นที่ปรึกษา สถานการณ์กลับพลิกผัน จนทำให้ พระเจ้าฮั่นโจโก ชนะ การศึก กับฌ้อปาอ๋อง และ สถาปนาราชวงศ์ฮั่นได้สำเร็จ)

บุคคลผู้นี้ก็คือ ฮกหลง(มังกรผู้ซ่อนกาย) หรือ จูกัดเหลียง ขงเบ้ง นั่นเอง


ขงเบ้ง รับใช้เล่าปี่ อยู่นานถึง 15 ปี และรับใช้เล่าเสี้ยนต่ออีก 12 ปี ขงเบ้งตายเมื่ออายุ 54 ปี ตรงกับ พ.ศ. 777 ก่อนที่ขงเบ้งจะตายก็ได้ออกมาดูอากาศ แล้วเห็นดาวประจำตัวนั่นเศร้าหมอง จึงรู้ว่าจะตาย และได้ทำพิธีต่ออายะ ในสามก๊กฉบับพระยาพระคลัง(หน) กล่าวไว้ว่า ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เขียนไว้ดังนี้


“ครั้นเวลาค่ำ จูกัดเหลียงอุตส่าห์เดินออกไปดูอากาศ เห็นดาวสำหรับตัว มันเศร้าหมองกว่าแต่ก่อน ก็ยิ่งตกใจเป็นอันมาก จึงพาเกียงอุยเข้าไปที่ข้างในแล้วว่า "ชีวิตเรานี้ เห็นที่จะตายในวันพรุ่งนี้แล้ว" เกียงอุยได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ จึงถามว่า "เหตุใดมหาอุปราชจึงว่า ฉะนี้" จูกัดเหลียงจึงว่า "เราพิเคราะห์ดูอากาศ เห็นดาวสำหรับตัวเราวิปริต จึงรู้ว่าสิ้นอายุแล้ว" เกียงอุยเสนอให้จูกัดเหลียงทำพิธีต่ออายุ ด้วยการตั้งโต๊ะบูชาเทพยดาและจุดโคมเสี่ยงทายอายุ ถ้าไฟโคมยังสว่างไสวตลอดพิธีจะมีอายุยืนยาวได้อีกสิบสองปี แต่ถ้าไฟโคมดับก่อนเสร็จพิธี ชีวิตก็จะสิ้นสุด จูกัดเหลียงคิดถึงภาระหน้าที่และคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเล่าปี่ว่าจะรวบรวม แผ่นดินถวายคืนสู่ราชวงศ์ฮั่น จำต้องทำพิธีต่ออายุแต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้น เมื่อนายพลอุยเอี๋ยนผลีผลามเข้ากระโจมเพื่อรายงานว่าสุมาอี้ส่งทัพมาท้ารบ ได้เตะเอาโคมเสี่ยงทายล้มไฟโคมดับ"


เรื่องการดูดาวประจำตัวนั้นขงเบ้งรู้แต่สุมาอี้ก็รู้ สุมาอี้ต้องการยืนยันความรู้ของตนว่าขงเบ้งใกล้ตายแล้วหรือไม่ด้วยการ ส่งทัพมาท้ารบ ถ้าทัพขงเบ้งออกสู้ แสดงว่าขงเบ้งยังไม่เป็นอะไรถ้าไม่สู้แสดงว่าขงเบ้งแย่แล้วจะได้ ตีซ้ำบดขยี้ทัพขงเบ้งให้แหลกลาญ ขงเบ้งรู้ทันความคิดแม้รู้ว่าชีวิตจะสิ้นยังคงสติได้ดีสั่งให้ทหารออก ปะทะขับไล่ทัพสุมาอี้ถอยไปตามเดิม
แล้วยังทำนายว่า หลังจากที่ขงเบ้งตาย อุยเอี๋ยนจะเป็นกบฏ จึงวางอุบายกำจัด อุยเอี๋ยน ไว้กับม้าต้ายทุกขั้นตอน โดยให้ม้าต้าย ตีสนิท เออออ ตามอุยเอี๋ยน และเมื่อใดที่ อุยเอี๋ยนตะโกนว่า ใครจะบังอาจฆ่ากูได้ ก็ให้ม้าต้ายก็จะเป็นผู้ฆ่า อุยเอี๋ยน


ถึงขงเบ้งลาลับดับโลก แต่ยังได้ทำพิธีรักษาดวงดาวประจำตัวไม่ให้ร่วงหล่นจากฟากฟ้า เป็นการขู่สุมาอี้ มิให้ตามโจมตีเวลาถอยทัพ ซึ่งอุบายนี้สามารถรักษาชีวิตทหารของตนได้หลายหมื่น และยังทำให้อาณาจักร จ๊กก๊ก (ของเล่าปี่) ยืนยาวอยู่ได้อีกกว่ายี่สิบปี พระเจ้าเล่าเสี้ยนโศกเศร้าเสียพระทัยมาก ศพของขงเบ้งถูกฝังอยู่ที่เชิงเขาเตงกุนสัน ปากทางเข้าเสฉวน


ในตอนที่ขงเบ้งตาย มีตำแหน่งเป็นมหาอุปราช ได้บรรดาศักดิ์เป็นอู่เซียงโหว (พระยา) ตายแล้วได้เลื่อนเป็น จงอูโหว (เจ้าพระยา) คำพูด คำสอน หนังสือ และคำกราบบังคมทูลมีจำนวนมากมาย มีผู้รวบรวมเป็นชุด จำนวน 24 เล่ม


ภายหลังจากที่ขงเบ้งสิ้นชีวิตไปแล้ว 29 ปี เมื่อเตงงายแม่ทัพของวุยก๊กได้ ยกทัพผ่านมาทางเขาเหยียดฟ้าปากทางเข้าเมืองเสฉวนอีกทาง ได้พบกับป้อมค่ายที่ร้างบนเขาซึ่งปราศจากทหารดู (พระเจ้าเล่าเสี้ยน ได้ยกเลิกการเฝ้าป้อมนี้ ก่อนหน้า 2 ปี ที่จงโฮย จะยกทัพมา เนื่องจากเปลืองทรัพย์แผ่นดิน) แลเมื่อจูกัดเหลียงสิ้นชีวิต ไปแล้ว ซึ่งขงเบ้งทำนายว่า ในอนาคตข้างหน้าจะมีแม่ทัพของวุยก๊กยกทัพผ่านทางนี้จึงให้เฝ้าระวังไว้ และเมื่อจงโฮยแม่ ทัพวุยก๊กอีกคนที่ยกทัพผ่านมาทางเขาเตงกุนสัน นอนหลับไปฝันเห็นว่าขงเบ้งมาเข้าฝันว่า เมื่อยกทัพเข้าเสฉวนได้แล้วขอให้ไว้ชีวิตราษฎร ปัจจุบันมีศาลเจ้าจูกัดเหลียงและเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย และบรรดาขุนพลของจ๊กก๊กที่เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวน ซึ่งได้รับการบูรณะในปีที่ 11 ของรัชสมัยจักรพรรดิคังซีของราชวงศ์ชิง



สิ่งประดิษฐ์ของขงเบ้ง
ขงเบ้งนอกจากจะเป็นยอดนักวางแผนแล้วยังเป็นยอดนักประดิษฐ์อีกด้วย สิ่งประดิษฐ์ส่วนใหญ่ขงเบ้งใช้เพื่อการสงคราม มีดังต่อไปนี้


หน้าไม้กล สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ถูกใช้หลังจากขงเบ้งตายไปแล้ว ขงเบ้งเพียงออกแบบเท่านั้น และนำแบบร่างให้เกียงอุยไปจัดการทำ กล่าวกันว่าหน้าไม้นี้สามารถยิงได้ครั้งละ 10 ดอก
โคยนต์ ขงเบ้งประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ในการขนส่งเสบียง
โคมลอย ใช้สำหรับบอกตำแหน่งทางการทหาร เรียกกันทั่วไปว่า โคมจูกัดเหลียง
ซาลาเปา หลังเสร็จศึกเบ้งเฮ็กแล้ว กองทัพจ๊กก๊กไม่สามารถข้ามแม่น้ำได้เนื่องวิญญาณทหารทั้งหลายที่ตายในสนามรบ ไม่ได้รับการปลดปล่อย ขงเบ้งจึงต้องทำพิธีบวงทรวงเซ่นไหว้ดวงวิญญาณด้วยการทำซาลาเปาแทนศีรษะ เหล่าทหาร และเชิญดวงวิญญาณกลับ


ผลงาน
1. กลเผาทุ่งพกบ๋อง ทำลายทัพของแฮหัวตุ้นที่มาโจมตี

2. เบื้องหลังความสำเร็จของยุทธนาการศึกเซ็กเพ็ก (หรือศึกผาแดง) ทำลายทัพกำลังนับล้านของโจโฉ นำหุ่นฟางไปลวงระดมธนูมาจากฝ่ายโจโฉ ขึ้นแท่นเรียกลม อ่านโองการบัญชาฟ้าดิน วางกลซุ่มดักตีทัพโจโฉยามแตกพ่าย

3. อุบายยึดเกงจิ๋วและหัวเมืองสำคัญทั้งหลายโดยใช้อุบายยืมกำลังจากง่อก๊กเข้าตีลวง แล้วจึงส่งกำลังเข้ายึดโดยไม่ต้องลงทุน

4. แก้อุบายจิวยี่จนเล่าปี่ได้ซุนฮูหยินเป็นภรรยา

5. อุบายลวงจิวยี่ มันสมองสำคัญของง่อก๊กจนกระอักเลือดตาย

6. เคลื่อนทัพเข้ายืดแคว้นเสฉวนของเล่าเจี้ยงเพื่อสร้างสถานภาพสามก๊ก

7. เจริญสัมพันธไมตรีกับง่อก๊กหลังจากพระเจ้าเล่าปี่สวรรคต ซึ่งก่อนหน้านี้เล่าปี่ได้เคลื่อนทัพหลวงบุกง่อก๊กเพื่อแก้แค้นให้กับกวนอู ซึ่งในครั้งนั้น ทำให้พระเจ้าเล่าปี่สูญเสียแม่ทัพเตียวหุย และยังถูกลกซุนเผาทัพหลวงจนพ่ายแพ้

8. สยบเบ้งเฮ็ก โดยปล้อยเบ้งเฮ็ก ถึง 7 ครั้ง ภายหลังเบ้งเฮ็ก ได้ยอมสวามิภักดิ์ ทำให้ทางใต้สงบ โดยไม่ต้องกังวลกับการบุกทางเหนือฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น

9. ออกอุบายปล่อยข่าวลือทำให้พระเจ้าโจยอยปลดสุมาอี้ออกจากตำแหน่งทางการเมืองเพื่อไม่ให้ต่อกรกับจ๊กก๊กได้

10. บุกกิสานครั้งที่หนึ่ง สามารถเคลื่อนทัพบุกยึดเทียนซุยและอันติ้งได้ด้วยอุบาย พร้อมทั้งได้ยอดทหารอย่างเกียงอุยมาเป็นขุนศึกคู่ใจด้วย

11. ครานั้นพระเจ้าโจยอยส่งทัพใหญ่ให้แม่ทัพโจจิ๋นเป็นแม่ทัพ และให้อองลองขุนนางเฒ่าข้าเก่าในสมัยพระเจ้าฮั่นเลนเต้เป็นที่ปรึกษานำทัพ ออกสู้รบเพื่อป้องกันการบุกของทัพจ๊กซึ่งมีขงเบ้งเป็นแม่ทัพใหญ่ ครานั้นอองลองออกยืนหน้าทัพของฝ่ายตนหวังจะพูดจาเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้จู กัดเหลียงละอายใจและได้สำนึก จะได้ถอยทัพกลับไปโดยไม่ต้องรบ กลับถูกจูกัดเหลียงซึ่งนั่งอยู่บนรถเลื่อนพูดด่าประจานให้ได้อายฟ้าอายดิน จนอองลองตกม้าตายอยู่ตรงหน้าทัพ ทหารเสียขวัญแตกพ่ายไม่เป็นขบวน เป็นการแสดงออกถึงอัจฉริยภาพด้านวาทศิลป์ไม่แพ้โซ้จิ๋น และเตียวยี่ในอดีต

12. ในยามคับขันครั้งหนึ่ง หลังจากเสียเกเต๋ง ขงเบ้งต้องถอยทัพใหญ่กลับเซงโต๋ (เฉิงตู) แต่ต้องขนถ่ายเสบียงกลับจากเมืองเล็กๆที่เสเสีย ภายในเมืองเสเสียมีแต่เสบียงกับทหารเพียงแค่สองพันห้าร้อยคน ในขณะที่กองทัพสุมาอี้มีกองทัพเรือนแสนยกมาประชิดกำแพงเมือง ขงเบ้งทำกลลวง เปิดประตูเมือง ลดธงทิวลง และขึ้น เล่นพินจีนบนกำแพงเมือง ลวงทัพสุมาอี้ ทำให้สุมาอี้ลังเลที่จะยกทัพบุกเข้าในเมืองเพราะกลัวขงเบ้งซุ่มทัพโจม ตี ครั้งนี้เป็นการแสดงอัจฉริยภาพของจูกัดเหลียงในการแก้ปัญหายามคับขันถึง ชีวิตได้อย่างยอดเยี่ยมถึงแม้จะมีความเสี่ยงมากก็ตาม

13. ในการบุกกิสานครั้งที่สาม ใช้เนินไม้แปลกสร้างกองทัพผีทำกลลวงทัพสุมาอี้จนแม้แต่ยอดขุนพลเตียวคับยังไม่กล้าบุก จนสามารถตีได้ค่ายใหญ่ของสุมาอี้ เปิดทางเข้าสู่กิสานได้เต็มตัว

14. สร้างโคยนต์ม้ากลขึ้นใช้ลำเลียงเสบียงซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการบุกกิสานในการบุกกิสานครั้งที่ 5

15. ลวงทัพสุมาอี้ให้ออกรบ โดยซุ่มกำลังไว้ที่ช่องเขาระหว่างทาง ทำการเผาทัพสุมาอี้ในการบุกกิสานครั้งที่ 6 ในครั้งนี้สุมาอี้ สุมาสู และสุมาเจียว บุตรทั้งสองของสุมาอี้ เกือบต้องมาสิ้นชีวิตที่ช่องเขานี้ แต่อาจเป็นเพราะ บุญญาพินิหารของตระกูลสุมาที่จะต้องให้กำเนิดพระมหากษัตริย์ที่ สามารถรวบรวมสามก๊กให้เป็นหนึ่งได้ ทำให้ฝนตกลงมาสามพ่อลูกตระกูลสุมาจึงหนีรอดไปได้

16. ก่อนขงเบ้งสิ้นชีวิตในการบุกกิสานครั้งที่ 6 นี้เองได้วางกลลวงสุมาอี้เพื่อทำให้กองทัพเคลื่อนกลับเซงโต๋ได้อย่างปลอดภัย โดยให้นำหุ่นไม้ของขงเบ้งขึ้นนั่งบนรถประจำตัวโดยในจุดนี้ บางฉบับกล่าวว่าขงเบ้งให้นำเอาศพของตนเองขึ้นนั่งบนรถ แล้วให้เกียงอุยเป็น ทัพหลัง เมื่อเห็นทัพสุมาอี้เคลื่อนใกล้เข้ามาตามตีก็ให้เข็นรถออกไปให้สุมาอี้เห็น ทำให้สุมาอี้ที่เคยโดนกลลวงจนเกือบโดนเผาตายไม่กล้ายกทัพตามตีต่อเพราะคิด ว่าขงเบ้งยังมีชีวิตอยู่และเกรงกลัวจะต้องกลของขงเบ้ง และยังให้เตียวหงีกับม้าต้ายทำกลลวงกบฏอุยเอี๋ยนจนสามารถสังหารอุยเอี๋ยนได้ระหว่างทางกลับเซงโต๋


ครอบครัว

บรรพบุรุษต้นตระกูล
จูเก๋อฟง
มารดา
เจียงซื่อ (เจียงสี) แซ่ จูเก๋อ (จูกัด)
บิดา
จูกัดกุย บางตำราว่า จูเก๋อกุย
อา จูกัดเหี้ยน
ภรรยา อุ๋ยซี
ลูกพี่ลูกน้อง จูกัดเอี๋ยน
พี่ จูกัดกิ๋น
พี่สาวอีก 2 คน ไม่ทราบชื่อ
น้อง จูกัดกุ๋น
บุตร จูกัดเจี๋ยม
บุตรบุญธรรม จูกัดเกียว

อ้างอิงจาก

หนังสือ สารานุกรม สามก๊ก

หนังสือ สามก๊ก (ฉบับ พระยาพระคลัง(หน) )

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87#.E0.B8.A3.E0.B8.B2.E0.B8.A2.E0.B8.8A.E0.B8.B7.E0.B9.88.E0.B8.AD.E0.B8.9A.E0.B8.B8.E0.B8.84.E0.B8.84.E0.B8.A5.E0.B8.97.E0.B8.B5.E0.B9.88.E0.B8.96.E0.B8.B9.E0.B8.81.E0.B8.AA.E0.B8.B1.E0.B8.87.E0.B8.AB.E0.B8.B2.E0.B8.A3.E0.B9.82.E0.B8.94.E0.B8.A2.E0.B8.88.E0.B8.B9.E0.B8.81.E0.B8.B1.E0.B8.94.E0.B9.80.E0.B8.AB.E0.B8.A5.E0.B8.B5.E0.B8.A2.E0.B8.87